มันคืออะไร

ไขมันพอกตับ คือ สภาวะที่มีไขมัน โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ เข้าไปอยู่ในเซลล์ตับมากกว่า 5-10% ของตับโดยน้ำหนัก ส่วนใหญ่จะพบในคนที่เป็นโรคอ้วน ผู้ป่วยเบาหวาน และ ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ

ทำไมต้องสนใจมันด้วย

ที่ต้องสนใจก็เพราะว่าไขมันพอกตับสามารถนำไปสู่ภาวะตับวาย ตับอักเสบ ตับแข็ง หรือมะเร็งตับได้ และอาการของมันไม่ได้แสดงให้เราเห็นได้ง่ายๆ แต่จะเจอะเจอมันจากการตรวจอัลตราซาวด์ ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตรวจเลือดดูค่าเอนไซม์ของตับ ระดับน้ำตาล ระดับไขมัน รวมถึงการเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจเท่านั้น

ความรุนแรงของมันเป็นอย่างไร

ความรุนแรงของสภาวะไขมันพอกตับขึ้นอยู่กับระยะที่เป็น โดยการดำเนินโรคแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะแรก เป็นระยะมีไขมันก่อตัวอยู่ในเนื้อตับเล็กน้อย ซึ่งไม่ก่อให้ตับมีการอักเสบ หรือพังผืดเกิดขึ้น
  • ระยะที่สอง เป็นระยะที่ตับเริ่มมีอาการอักเสบ โดยในระยะนี้ถ้าไม่ควบคุมดูแลให้ดี และปล่อยให้การอักเสบดำเนินไปเรื่อยๆ เกินกว่า 6 เดือนอาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังได้
  • ระยะที่สาม เป็นระยะที่ตับมีอาการการอักเสบอย่างรุนแรง ทำให้เกิดพังผืดในตับ เซลล์ตับจะค่อยๆ ถูกทำลาย
  • ระยะที่สี่ เป็นระยะที่ตับถูกทำลายไปมาก ทำให้ไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ ตับแข็ง และอาจกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด

ระยะเวลาในการพัฒนาแต่ละขั้นจะเป็นไปอย่างช้าๆจนเราไม่รู้ตัว จากระยะหนึ่งสู่ระยะหนึ่งอาจใช้เวลานับ 10 ปีก็เป็นได้

มันเกิดจากอะไรได้บ้าง

ไขมันพอกตับเกิดได้จาก การมีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินในร่างกายมากเกินไปจนตับนำไปสร้างเป็นไขมัน(lipogenesis) โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากลุ่มฮอร์โมนทดแทน และการมีไขมันในเลือดสูงซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป เนื่องจากอัตราการเผาผลาญอาหารเริ่มลดลง

ความเสี่ยงที่จะเป็น

ถึงแม้ว่าอาการไขมันพอกตับจะสังเกตเห็นได้ยาก แต่ก็มีหลักเกณฑ์ทางการแพทย์เบื้องต้นเป็นสัญญาณที่อาจบ่งชี้ว่าตับของคุณเริ่มมีปัญหา ดังนี้

  • มีน้ำหนักมาก และมีไขมันสะสมที่หน้าท้อง ลดน้ำหนักอย่างไรก็ไม่ลง
  • มีระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
  • เป็นเบาหวาน
  • รู้สึกเหนื่อย และอ่อนเพลีย
  • รู้สึกเจ็บตึง ๆ ที่ชายโครงขวา
  • มีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารไม่ลงและคลื่นไส้เป็นบางครั้ง
  • ระดับไตรกีเซอร์ไรด์(TG)สูงขึ้นไขมันเลว(LDL)เพิ่มขึ้น ระดับไขมันดี(HDL)ลดลง

การป้องกัน

ผู้รู้ได้แนะนำแนวทางการป้องกัน และลดความเสี่ยงจากไขมันพอกตับ ดังนี้

  • อย่าให้มีน้ำหนักตัวมากเกินไป
  • ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะเป็นประจำเพื่อเพิ่มอัตราการเผาผลาญอันเป็นการลดความเสี่ยงภาวะดื้ออินซูลินและไขมันพอกตับไปในตัว
  • ลด และเลิกการดื่มสุรา ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้ตับมากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยา หรืออาหารเสริมที่ไม่จำเป็น
  • ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องทำฟันและทำเล็บ
  • อย่าละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี
  • หลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสม fructose corn syrup สูง โดยให้อ่านฉลากให้ดีว่า มีส่วนผสมของน้ำตาลชนิดนี้หรือไม่ เช่นน้ำอัดลม เครื่องดื่มบรรจุขวดหรือกระป๋องทั้งหลาย
  • ลดแป้งขัดขาวในมืออาหาร เพิ่มผักผลไม้สด ถั่ว ธัญพืชที่มีเมล็ด เช่น เมล็ดฟักทอง งา กินเนื้อปลา ไก่
  • ใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า หรือน้ำมันมะพร้าว ในการปรุงอาหาร
  • เลือกกินไขมัน ที่มีคุณประโยชน์เช่น อะโวคาโด เนยจากมะพร้าว น้ำมันปลา(fish oil)
  • กินผักที่ช่วยล้างพิษ เร่งกำจัดพิษตับ เช่น ผักตระกูลบร็อคโคลี่ คะน้า กะหล่ำ กระเทียม หัวหอม
  • กินวิตามินบีและแมกนีเซียม (Magnesium) ที่ช่วยสนับสนุนให้ตับเยียวยาซ่อมสร้างเซลล์ตับที่เสียหายได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรที่ใช้เป็นทางเลือกบำรุงตับ และสามารถใช้ในภาวะไขมันพอกตับได้ ได้แก่ ขมิ้นชัน มะขามป้อม สมอไทย ลูกใต้ใบ รางจืด กระเทียม และมะนาว

อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นแล้วสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยก็คือ การไปพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ และติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง

 

แหล่งที่มา

http://www.thaihealth.or.th/

https://www.bumrungrad.com

https://abphy.com/user/chalidanok

http://inter.phyathai.com/medicalarticledetail/1/14/1469/TH

http://blog.docsuggest.com/1793/why-alcohol-is-not-good-for-your-liver/

http://www.globalhealingcenter.com/natural-health/liver-cleanse-foods/

ภัยเงียบจากไขมันตับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *